วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระมหากษัตริย์ ๙ รัชกาล

พระมหากษัตริย์ 9 รัชกาล

พระราชประวัติรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ประสูติ พ.ศ. 2279 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2352) มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง 
พระราชประวัติ
                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
ทรงพระนามเต็มว่า " พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาสกรวงศ์องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตน ชาติอาชาวศรัย สมุทัยวโรมนต์สกลจักรฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทรหริหรินทรธาดาธิ บดี ศรีสุวิบุลยคุณธขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพา ดิเทพนฤดินทร์ภูมินทรปรามาธิเบศร โลกเชฎฐวิสุทธิ์รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว "
               ทรงประสูติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 พระราชบิดาทรงพระนามว่า ออกอักษรสุนทร ศาสตร์ พระราชมารดาทรงพระนามว่า ดาวเรือง มีบุตรและธิดารวมทั้งหมด 5 คน คือ
               คนที่ 1 เป็นหญิงชื่อ "สา" ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี )
               คนที่ 2 เป็นชายชื่อ "ขุนรามนรงค์" ( ถึงแก่กรรมก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 )
               คนที่ 3 เป็นหญิงชื่อ "แก้ว" ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์                    คนที่ 4 เป็นชายชื่อ "ด้วง" (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช )
               คนที่ 5 เป็นชายชื่อ "บุญมา" ( ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราช )   เมื่อเจริญวัยได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุทุมพร
               พระชนมายุ 21 พรรษา ออกบวชที่วัดมหาทลาย แล้วกลับมาเป็นมหาดเล็กหลวงในแผ่นดินพระเจ้าอุทุมพร
               พระชนมายุ 25 พรรษา ได้รับตัวแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ประจําเมืองราชบุรีในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระองค์ได้วิวาห์กับธิดานาค ธิดาของท่านเศรษฐีทองกับส้ม
              พระชนมายุ 32 พรรษา ในระหว่างที่รับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เลื่อนตําแหน่งดังนี้
              พระชนมายุ 33 พรรษา พ.ศ. 2312 ได้เลื่อนเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพิมาย
              พระชนมายุ 34 พรรษา พ.ศ. 2313 ได้เลื่อนเป็นพระยายมราชที่สมุหนายกเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง
              พระชนมายุ 35 พรรษา พ.ศ. 2314 ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาจักรี เมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปตีเขมรครั้งที่ 2
              พระชนมายุ 41 พรรษา พ.ศ. 2321 ได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อคราวเป็นแม่ทัพใหญ่ไปตีเมืองลาวตะวันออก
              พ.ศ. 2323 เป็นครั้งสุดท้ายที่ไปปราบเขมร ขณะเดียวกับที่กรุงธนบุรีเกิดจลาจล
จึงเสด็จยกกองทัพกลับมากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2325 พระองค์ทรงปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินเสร็จแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติปราบดาภิเษก แล้วได้มีพระราชดํารัสให้ขุดเอาหีบพระบรมศพของพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นตั้ง ณ เมรุวัดบางยี่เรือพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุลแล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพ เสร็จแล้วให้มีการมหรสพ
พระราชกรณียกิจรัชกาล 1 
                ซึ่งไทยยังคงมีสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก สงครามที่แสดงพระอัจฉริยภาพอย่างมากคือ สงคราม 9 ทัพ ทั้งที่ทรงมีกำลังทหารเพียงครึ่งหนึ่งของพม่า แต่ก็สามารถทำสงครามขับไล่อิทธิพลพม่าออกจากล้านนา หัวเมืองเหนือและราชอาณาเขตได้โดยเด็ดขาดทำให้อาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์  แล้วก็ยังมีพระราชกรณียกิจในด้านอื่นๆ อีกมากมาย
ผลงานพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงมีพระนามเดิมว่า  "ด้วง"  หรือ  "ทองด้วง"  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279  เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร  กรมขุนพรพินิต  ต่อมาได้เข้ารับราชการในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ  ตำแหน่งหลวงยกกระบัตรประจำเมืองราชบุรี  และปฏิบัติราชการที่เมืองราชบุรีจนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราช  หลวงยกกระบัตรได้รับราชการอย่างแข็งขันและมีพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะด้านการสงคราม
          พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                1.  ด้านการเมืองการปกครอง 
                              1.1)  ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่  โดยทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
                              1.2)  โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระกฎหมายให้ถูกต้องยุติธรรม  เรียกว่า  "กฎหมายตราสามดวง"  เพราะประทับตราสำคัญ 3 ดวง  ได้แก่  ตราราชสีห์ของสมุหนายก  ตราคชสีห์ของสมุหพระกลาโหม  และตราบัวแก้วของกรมท่า
                              1.3)  ทรงให้ขุดคลองรอบกรุง  เช่น  คลองบางลำพูทางตะวันออก  คลองโอ่งอ่างทางใต้  ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเหมือนเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบเหมือกับกรุงศรีอยุธยา  รวมทั้งสร้างกำแพงพระนครและป้อมปราการไว้โดยรอบ  ปัจจุบันคงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุและป้อมปราการไว้โดยรอบ  ปัจจุบันคงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ  และป้อมมหากาฬที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
                              1.4)  ทรงเป็นจอมทัพในการทำสงครามกับรัฐเพื่อนบ้าน  สงครามครั้งสำคัญ  คือ  สงครามเก้าทัพกับพม่า
                2.  ด้านเศรษฐกิจ
                              2.1)  ในตอนต้นรัชกาลที่ 1  เศรษฐกิจยังไม่ดีเพราะมีการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง  การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศก็ลดลงมาก  แต่ในปลายรัชกาลบ้านเมืองปลอดภัยจากสงคราม  ทำให้ประชาชนมีเวลาประกอบอาชีพ  ส่วนการค้าขายกับจีนเพิ่มมากขึ้น  ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น  มีเงินใช้จ่ายในการทำนุบำรุงบ้านเมือง  สร้างพระนคร  สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด  รวมทั้งสั่งซื้อและสร้างอาวุธเพื่อใช้ป้องกันพระราชอาณาเขต  ทำให้บ้านเมืองและราษฎรเกิดความมั่นคงและมั่งคั่ง     
                3.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม
                              3.1)  โปรดเกล้า ฯ  ให้สร้างพระราชวังและวัดให้มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยา  เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎรให้เสมือนอยู่ในสมัยอยุธยาเมื่อครั้งบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง  เช่น  โปรดเกล้า ฯ  ให้ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทขึ้นมาใหม่  และพระราชทานนามว่า  "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"  รวมทั้งโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วไว้ในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยอยุธยา
                              3.2)  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ด้วยการออกแบบกฎหมายคณะสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์อยู่ในพระธรรมวินัย  โปรดเกล้า ฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกให้มีความถูกต้องสมบูรณ์  โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ  เช่น  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)  วัดสุทัศนเทพวราราม  วัดสระเกศ  วัดระฆังโฆสิตาราม  วัดสุวรรณดารารามตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่ถูกทิ้งร้างตามหัวเมืองต่าง ๆ แล้วนำมาประดิษฐานไว้ตามวัดวาอารามที่สร้างขึ้นใหม่  เช่น  อัญเชิญพระศรีศากยมุนี  จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ  จังหวัดสุโขทัย  มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม  เป็นต้น
                              3.3)  ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีและประเพณีสำคัญสมัยอยุธยา  เช่น  จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสมโภชพระนคร  แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของการกอบกู้ราชธานีขึ้นมาใหม่  เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับราษฎรและเป็นการรักษาพระราชพิธีโบราณ
                              3.4)  ทรงส่งเสริมงานวรรณกรรม  โดยพระราชนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง  เช่น  รามเกียรติ์  เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง  โปรดเกล้า ฯ ให้แปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทย  เช่น  สามก๊ก  ราชาธิราช  แปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  ซึ่งวรรณคดีเหล่านี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
 พระราชประวัติรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(ประสูติ พ.ศ. 2310 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2367)
มีพระนามเดิมว่า ฉิม
              พระราชประวัติ
              พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงประสูติเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 7 คํ่า เดือน 3 ปีกุน มีพระนามเดิมว่า "ฉิม" พระองค์ทรงเป็นพระบรมราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นหลวงยกกรับัตรเมืองราชบุรี พระบิดาได้ให้เข้าศึกษากับสมเด็จพระวันรัต ( ทองอยู่ ) ณ วัดบางหว้าใหญ่ พระองค์ทรงมีพระชายาเท่าที่ปรากฎ
1. กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสี
2. กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระสนมเอก ขณะขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2352 มีพระชนมายุได้ 42 พรรษา
พระราชกรณียกิจที่สําคัญ
                พ.ศ. 2317 ขณะที่เพิ่งมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้ติดตามไปสงครามเชียงใหม่ อยู่ในเหตุการณ์ครั้งที่บิดามีราชการไปปราบปรามเมืองนางรอง นครจําปาศักดิ์ และบางแก้ว ราชบุรี จนถึงอายุ 11 พรรษา
                พ.ศ. 2322 พระราชบิดาไปราชการสงครามกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ติดตามไป
                พ.ศ. 2323 พระชนมายุ 13 พรรษา ได้เข้าเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่ )
                พ.ศ. 2324 พระราชบิดาได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ไปร่วมปราบปรามเขมรกับพระบิดา
                พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร"
                พ.ศ. 2329 พระชนมายุ 19 พรรษา ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามตําบลลาดหญ้า และทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ
                พ.ศ. 2330 ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามที่ตําบลท่าดินแดง และตีเมืองทวาย
                พ.ศ. 2331 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่อุปสมบทในวัดนี้ เสด็จไปจําพรรษา เมื่อครบสามเดือน ณ วัดสมอราย ปัจจุบันคือวัดราชาธิราช ครั้นทรงลาผนวชในปีนั้น ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์
                พ.ศ. 2336 โดยเสด็จพระราชบิดาไปตีเมืองทวาย ครั้งที่ 2
                พ.ศ. 2349 ( วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 7 คํ่า ปีขาล ) ทรงพระชนมายุได้ 40 พรรษาได้รับสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ซึ่งดํารงตําแหน่งพระมหาอุปราชขึ้นแทน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ที่ได้สวรรคตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2346
ผลงานของรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีพระนามเดิมว่า  "ฉิม"  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอม รินทราบรมราชินี  เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา  ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในคราวที่สมเด็จพระราชบิดาทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในคราวที่สมเด็จพระราชบิดาทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325
          พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                    1.  ด้านการเมืองการปกครอง 
                              1.1)  ทรงตรากฎหมายห้ามสูบซื้อขายฝิ่นใน พ.ศ. 2354  และ พ.ศ.2362  โดยกำหนดบทลงโทษแก่ผู้สูบฝิ่นไว้อย่างหนัก
                              1.2)  ทรงปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดสักเลกเมื่อ พ.ศ. 2353 เพื่อเรียกเกณฑ์ไพร่พลเข้ารับราชการ  โดยลดเวลาให้ไพร่มารับราชการเพียง 3 เดือน ทำให้ไพร่มีเวลาทำมาหากินส่วนตัวมากขึ้น
                      2.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม
                              2.1)  โปรดเกล้า ฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งด้วยการสถาปนาโบสถ์และวิหารใหม่  เสริมพระปรางค์องค์เดิมให้ใหญ่ขึ้น  และพระราชทานนามใหม่ว่า  "วัดอรุณราชวราราม"  ทรงให้แปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย  เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจคำสอนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
                              2.2)  ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2360 ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยสุโขทัย
                     3.  ด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม
                              3.1)  ทรงปรับปรุงท่ารำต่าง ๆ ทั้งโขนและละคร  ซึ่งกลายเป็นต้นแบบมาถึงปัจจุบัน  ทรงประพันธ์เพลง  "บุหลันลอยเลื่อน"  หรือ  "บุหลันลอยฟ้า"
                              3.2)  ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมมากมาย  เช่น  ขุนช้าง ขุนแผน  คาวี  สังข์ทอง  ไกรทอง  อิเหนา
                              3.3)  ทรงแกะสลักบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนี  ที่วัดสุทัศนเทพวราราม  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร

รัชกาลที่ 3พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว



พระราชประวัติ
        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “ทับ” ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม (ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น “หม่อมเจ้าด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงได้เลื่อนพระยศขึ้นเป็น “พระองค์เจ้า” ทุกพระองค์  ต่อมาในปีพุทธศักราช 2356ภายหลังจากที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
         กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์หลายแขนง อาทิ ในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบรมชนกนาถให้ไปบังคับ บัญชาหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ   เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดย มิได้ทรงตรัสมอบราชสมบัติพระราชทานให้แก่ผู้ใด ประกอบกับในรัชกาลของพระองค์ก็มิได้ทรงแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ ตำแหน่งรัชทายาทไว้ ดังนั้น พระราชวงศ์และบรรดาข้าราชการจึงได้ปรึกษากันตามโบราณราชประเพณี เพื่อ เลือกผู้สืบราชสมบัติ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงพากันเข้าเฝ้า ทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แม้ตามที่ควรแล้วราชสมบัติควรจะตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสที่ประสูติแต่ สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 แต่ด้วยเหตุที่เจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงพระเยาว์และไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อนในขณะ ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเจริญพระชนมายุมากกว่า และได้ทรงปฎิบัติราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณจนเป็นที่ว้างพระราชหฤทัยมาโดย ตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ผนวกกับพระองค์ทรงเป็นผู้มีน้ำพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จนเป็นที่รักใคร่ นับถือแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนทั่วไป รวมทั้งในช่วงเวลานั้นบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดีและยังคงมีข้าศึกมา ประชิดติดพันอยู่เนื่อง ๆ เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้แล้วจึงได้พร้อมกันถวายสิริราชสมบัติแต่กรมหมื่น เจษฎาบดินทร์ โดยมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสริฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทราวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
                พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเสริมสร้างกำลังป้องกันราชอาณาจักร โปรดให้สร้างป้อมปราการตามปากแม่น้ำสำคัญ และหัวเมืองชายทะเล
การคมนาคม
              ใน รัชสมัยของพระองค์ใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ ทั้งในการสงครามและการค้าขาย คลองจึงมีความสำคัญมากในการย่นระยะทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จึงโปรดฯให้มีการขุดคลองขึ้น เช่น คลองบางขุนเทียน คลองบางขนาก และ คลองหมาหอน
 การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
         พระองค์ทรง เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมายเช่น พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศน์ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดปรินายกและวัดนางนอง ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดาราม ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดเก่าอีก 35 วัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลที่ 1 วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม เป็นต้น
การศึกษา
          ทรงทำนุบำรุง และ สนับสนุนการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่งคือ หนังสือจินดามณ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้นำตำราต่างๆ มาจารึกลงในศิลาตามศาลารอบพุทธาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปั้นตึ้งไว้ตามเขามอและเขียนไว้ตามฝาผนังต่างๆ มีทั้งอักษรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ พุทธศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่วิชาการสาขาต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม
ด้านความเป็นอยู่
         พระองค์ ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่ทรงสามารถจะบำบัดทุกข์ให้ราษฎรได้ หากไม่เสด็จออกนอกพระราชวัง เพราะราษฎรจะร้องถวายฏกาได้ต่อเมื่อพระคลังเวลาเสด็จออกนอกพระราชวังเท่า นั้น จึงโปรดให้นำกลองวินิจฉัยเภรีออกตั้ง ณ ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อราษฎรผู้มีทุกข์จะได้ตีกลองร้องถวายฏีกาไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป โดยพระองค์จะคอยซักถามอยู่เนื่องๆ ทำให้ตุลาการ ผู้ทำการพิพากษาไม่อาจพลิกแพลงคดีเป็นอื่นได้
                ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีศาสนาจารย์และนายแพทย์ชาวอเมริกันและอังกฤษเดินทาง เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือศาสนาจารย์ แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี. หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของ หมอบรัดเลย
 ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคและการทำผ่าตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตน โกสินทร์ นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังได้คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น (ปี พ.ศ. 2379) ทำให้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรกโดยพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็น ภาษาไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2339 ต่อมาปี พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
                ในด้านการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย
ได้ออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคด ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387









รัชกาลที่ 4

พระราชประวัติรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ประสูติพ.ศ.2347ขึ้นครองราชย์พ.ศ.2393-พ.ศ.2411)
มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามหามาลา
พระราชประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ตรงกับปีชวด มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามหามาลา ขณะนั้นพระราชบิดายังดัารงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาอักขะสมัยกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ มีพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดา คือ เจ้าฟ้าจุธามณี ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
          เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถก็โปรดให้มีการพระราชพิธีลงสรง ( พ.ศ. 2355 ) เป็นครั้งแรกที่กระทําขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานนามจารึกในพระสุพรรณปัฎว่า " สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์พงศ์อิสรค์กษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร " สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2394 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เรียกขานในหมู่ชาวต่างชาติว่า "คิงส์มงกุฎ" ขณะที่พระองค์ขึ้นเสวย สิริราชย์สมบัตินั้น พระชนมายุ 37 พรรษา
          เมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ( พระนามเดิมเจ้าฟ้าจุธามณีโอรสองค์ที่ 50 ของรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีฐานะเสมือนพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง



การทํานุบํารุงบ้านเมือง
การปกครอง ในรัชกาลนี้ ได้มีการปฎิรูปการปกครองเฉพาะในด้านประเพณีที่มีมาแต่เดิมๆ อย่างเช่น ปรับปรุงประเพณีการเข้าเฝ้า มีพระบรมราชโองการให้ทุกคนสวมเสื้อเข้าเฝ้า โปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และถวายฎีการ้องทุกข์ทุกวันโกนเดือนละ 4 ครั้ง โดยพระองค์ท่านจะเสด็จออกมารับการร้องทุกข์นั้น
กฎหมาย  มีกฎหมายที่ออกในรัชกาลนี้มาก มีทั้งกฎหมายอาญาหลวง และมีประกาศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาล  ยังมิได้มีการรวบรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน แต่โปรดให้ตั้งศาลต่างประเทศระหว่างคนไทยกับต่างประเทศ และให้เกิดมีศาลกงสุลขึ้นเป็นครั้งแรก
ทหาร  โปรดให้มีการฝึกหัดทหารแบบยุโรป โดยจ้าง "ร้อยเอกอิมเปย์" นายทหารนอกราชการของกองทัพบกอังกฤษ ประจําประเทศอินเดียมาเป็นครูฝึก พ.ศ. 2394 ได้จัดกองทหารประจําพระองค์ออกเป็น 2 กอง คือ "กองทหารรักษาพระองค์" ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม และ "กองทหารหน้า"
ทหารเรือ  มีการสร้างเรือชนิดที่ใช้เครื่องจักรกลขึ้น และทรงตั้งกรมเรือกลไฟ
ตํารวจ  มีตํารวจพระนครบาลขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2404 การตัดถนนและขุดคลอง โปรดให้สร้างถนนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2404 ถนนเจริญกรุงเป็นสายแรก
การขุดคลอง  มีการขุดคลอง เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ และคลองดําเนินสะดวก
ศาสนา  พระราชกรณียกิจที่สําคัญในการทํานุบํารุงพุทธศาสนา คือ ทรงให้กําเนิดธรรมยุติกนิกาย มีการสร้างพระอารามหลวง มี 5 พระอารามได้แก่ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดประทุมวนาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม วัดมกุฎกษัตริยาราม
วรรณคดี และกวี พระราชนิพนธ์ที่สําคัญ
          1. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
          2. บทระบํา
          3. บทละครเรื่องรามเกียรติ์
          4. บทเบิกโรงละครหลวง
          5. โคลงพระราชทานพร
          6. จารึกวัดราชประดิษฐ์
          7. ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย หมวดภาษา และวรรณคดี
กวีในรัชสมัย เช่น พระยาอิศรานุภาพ หม่อมราโชทัย คุณสุวรรณ
ศิลปกรรม  สถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์จิตรกรรม มีปรากฎอยู่ในพระอุโบสถ และพระวิหารวัดบวรนิเวศน์ปฎิมากรรม มีการหล่อพระพุทธรูป
การศึกษา  โปรดจ้างแหม่มเลียวโนเวนส์ มาจากสิงคโปร์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปภายหน้า
การติดต่อกับต่างประเทศ  ในรัชกาลนี้ มีการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีการทําสนธิสัญญากับนานาประเทศ เริ่มด้วยรัฐบาลอังกฤษได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เจ้าเมืองฮ่องกงในขณะนั้นเป็นอัครราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการเข้ามาขอเจรจาทําสนธิสัญญาทางไมตรีมาทางเรือรบ สนธิสัญญาที่ทําขึ้นมีผลที่สําคัญบังเกิดขึ้นคือ ก่อให้เกิดสิทธิภาพนอกอาณาเขต และอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย
          การทูตของไทย พ.ศ. 2400 พระองค์ทรงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม ) เป็นอัครราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ ประเทศอังกฤษ
          ไทยเสียเขมร ต่อเนื่องมาจากฝรั่งเศสครองญวนได้แล้ว จึงมาบังคับเขมรโดยอ้างว่าเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของญวนมาก่อน สมเด็จพระนโรดมกษัตริย์ของเขมร ขณะนั้น ยินยอมทําสัญญาลับยอมอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2406 และได้ส่งหนังสือมากราบบังคมทูลว่า ที่ยอมฝั่งเศสนั้นเพราะถูกบังคับ และต่อมา วันที่ 15 กรกฎาคม 2410 ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญายกกัมพูชาให้ฝรั่งเศส ศึกเมืองเชียงตุงการตีเมืองเชียงตุงนี้ ค้างมาตั้งแต่ปลายรัชกาล ที่ 3 แต่ตีไม่สําเร็จ
เสด็จสวรรคต  พ.ศ. 2411 พระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตําบลหว้ากอจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามที่พระองค์ทรงทํานายเอาไว้ว่า จะเกิดในวันขึ้น 1 คํ่า เดือน 10 พ.ศ. 2411หลังจากที่กลับมาแล้วก็ทรงประชวรหนัก และได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 พระชนมายุได้ 65 พรรษา เสวยราชสมบัติได้ 17 ปี มีพระราชโอรส และพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 82 พระองค์
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๔  เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ในกรอบรูปกลมรี เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ว่า "มงกุฎ" มีฉัตรตั้งขนาบพระ มหาพิชัยมงกุฎทั้งสองข้าง มีพาน ทองสองชั้นวางแว่นสุริยกาลหรือ เพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่งพระแว่นสุริยกาลหรือเพชร มาจาก ฉายาเมื่อทรงผนวชว่า"วชิรญาณ" ส่วนสมุดตำรามาจากการที่ได้ทรง ศึกษาและมีความเชี่ยวชาญในด้าน อักษรศาสตร์และดาราศาสตร์











รัชกาลที่ 5

พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ประสูติ พ.ศ. 2396 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2453)
มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ 
             พระราชประวัติ
             พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า " เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ " เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ( สมเด็จพระนางรําเพยภมรภิรมย์ ) พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ตรงกับวันอังคาร แรม 3 คํ่า เดือน 10 ได้ทรงรับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และกรมขุนพอนิจประชานาถ
             ด้านการศึกษา พระองค์ทรงได้รับการศึกษาเป็นมาอย่างดี คือ ทรงศึกษาอักษรศาสตร์ โบราณราชประเพณี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยรัฐประศาสนศาสตร์ วิชากระบี่ กระบอง วิชาอัศวกรรม วิชามวยปลํ้า การยิงปืนไฟ เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สําเร็จราชการ พ.ศ. 2410 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งพระแสงกระบี่มาถวาย ครั้นพระชนมายุครบที่จะว่าราชการได้ พระองค์จึงได้ทรงทําพิธีราชาภิเษกใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2416 ทําให้เกิดผลใหญ่ 2 ข้อ 
1. ทําให้พวกพ่อค้าชาวต่างประเทศหันมาทําการติดต่อกับพระองค์โดยตรง เป็นการปลูกความนิยมนับถือกับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
2. ทําให้พระองค์ มีพระราชอํานาจที่จะควบคุมกําลังทหารการเงินได้โดยตรงเป็นได้ทรงอํานาจในบ้านเมืองโดยสมบูรณ์
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
                พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ
                พระราชกรณียกิจด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ โดยให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์ นับเป็นการเกิดระบบทหารอาชีพในประเทศไทย[10] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำเนินการเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากออกกฎหมายให้ลูกทาสอายุครบ 20 ปีเป็นอิสระ จนกระทั่งออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ซึ่งปล่อยทาสทุกคนให้เป็นอิสระและห้ามมีการซื้อขายทาส[11]
การปฏิรูปการปกครอง
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศในแถบเอเชีย โดยมักอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ว่าเป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าอันเป็น "ภาระของคนขาว"[12] ทำให้ต้องทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย โดยพระราชกรณียกิจดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2416[12]
                ประการแรก ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมาสองสภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (เคาน์ซิลออฟสเตต) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (ปรีวีเคาน์ซิล) ในปี พ.ศ. 2417 และทรงตั้งขุนนางระดับพระยา 12 นายเป็น "เคาน์ซิลลอร์" ให้มีอำนาจขัดขวางหรือคัดค้านพระราชดำริได้ และทรงตั้งพระราชวงศานุวงศ์ 13 พระองค์ และขุนนางอีก 36 นาย ช่วยถวายความคิดเห็นหรือเป็นกรรมการดำเนินการต่าง ๆ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางตระกูลบุนนาค และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เห็นว่าสภาที่ปรึกษาเป็นความพยายามดึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดคามขัดแย้งที่เรียกว่า วิกฤตการณ์วังหน้า[13] วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้การปฏิรูปการปกครองชะงักลงกระทั่ง พ.ศ. 2428
                พ.ศ. 2427 ทรงปรึกษากับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พร้อมเจ้านายและข้าราชการ 11 นาย ได้กราบทูลเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงเห็นว่ายังไม่พร้อม แต่ก็โปรดให้ทรงศึกษารูปแบบการปกครองแบบประเทศตะวันตก และ พ.ศ. 2431 ทรงเริ่มทดลองแบ่งงานการปกครองออกเป็น 12 กรม (เทียบเท่ากระทรวง)[14]
                พ.ศ. 2431 ทรงตั้ง "เสนาบดีสภา" หรือ "ลูกขุน ณ ศาลา" ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร ต่อมา ใน พ.ศ. 2435 ได้ตั้งองคมนตรีสภา เดิมเรียกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อวินิจฉัยและทำงานให้สำเร็จ และรัฐมนตรีสภา หรือ "ลูกขุน ณ ศาลาหลวง" ขึ้นเพื้อปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกฎหมาย นอกจากนี้ยังทรงจัดให้มี "การชุมนุมเสนาบดี" อันเป็นการประชุมปรึกษาราชการที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[15]
ด้วยความพอพระทัยในผลการดำเนินงานของกรมทั้งสิบสองที่ได้ทรงตั้งไว้เมื่อ พ.ศ. 2431 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อันประกอบด้วย
  • กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
  • กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
  • กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
  • กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
  • กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
  • กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
  • กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
  • กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
  • กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
  • กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
  • กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
  • กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์[16]
                หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกิจการพลเรือนเพียงอย่างเดียว และให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกิจการทหารเพียงอย่างเดียว ยุบกรม 2 กรม ได้แก่ กรมยุทธนาธิการ โดยรวมเข้ากับกระทรวงกลาโหม และกรมมรุธาธร โดยรวมเข้ากับกระทรวงวัง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรพานิชการ เป็น กระทรวงเกษตราธิการ ด้านการปกครองส่วนภูมิภาค มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ไทยกลายมาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่[17] โดยการลดอำนาจเจ้าเมือง และนำข้าราชการส่วนกลางไปประจำแทน ทรงทำให้นครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2317-2442) รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ตลอดจนทรงแต่งตั้งให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ไปประจำที่อุดรธานี เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบเทศาภิบาลพ.ศ. 2437 ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ระบบเทศาภิบาลดังกล่าวทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มั่นคง มีเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน นับเป็นการรักษาเอกราชของประเทศ และทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นพระองค์ยังได้ส่งเจ้านายหลายพระองค์ไปศึกษาในทวีปยุโรป เพื่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญในการปกครองที่ได้รับการปฏิรูปใหม่นี้ และทรงจ้างชาวต่างประเทศมารับราชการในตำแหน่งที่คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญ ทรงตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศที่ท่าฉลอม พ.ศ. 2448




รัชกาลที่ 6

พระราชประวัติรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ประสูติ พ.ศ. 2423 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2453 - พ.ศ. 2468)
มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ 
            พระราชประวัติ
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2421 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ( สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี ) เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงพระนามว่า "สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ" ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี ในปี พ.ศ. 2431 และต่อมาในปี พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมารดํารงตําแหน่งรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร ดํารงตําแหน่งรัชทายาทแทน
พระราชกรณียกิจ
ด้านการศึกษา
                ในด้านการศึกษา ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งในปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และในปี พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
การเปิดโรงเรียนในเมืองเหนือ
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชทานนามโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่การนำรูปแบบการศึกษาตะวันตกมายังหัวเมืองเหนือเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย[16] เห็นได้จากการเสด็จประพาสมณฑลพายัพทั้งสองครั้งระหว่าง พ.ศ. 2448-2450 พระองค์ได้ทรงสนพระทัยในกิจการโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น โดยพระองค์ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" และ "ลิลิตพายัพ"[16] ทั้งนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษายังแฝงประโยชน์ทางการเมืองที่จะให้ชาวท้องถิ่นกลมเกลียวกับไทยอีกด้วย[16]
ด้านการเศรษฐกิจ
                ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์และเพื่อความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น
ด้านการคมนาคม
                ในปี พ.ศ. 2460 ทรงตั้งกรมรถไฟหลวง และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ สายใต้จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์ อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพี่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น
ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
                ทรงตั้งกรมมหรสพ เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย และยังได้ทรงสร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัยด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทย
ด้านการต่างประเทศ
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย ผลของสงครามประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สนธิสัญญาจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สนธิสัญญาจำกัดอำนาจกลางประเทศไทย
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
                ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และวชิรพยาบาล และทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457
ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
                ทรงจัดตั้งกองเสือป่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 และทรงจัดตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ด้านการฝึกสอนระบอบประชาธิปไตย ทรงทดลองตั้ง "เมืองมัง" หลังพระตำหนักจิตรลดาเดิม ทรงจัดให้เมืองมัง มีระบอบการปกครองของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ในพระราชวังดุสิต (ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท)

ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์
                ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งหนังสือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสร สำหรับในด้านงานหนังสือพิมพ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร พ.ศ. 2465 ขึ้น

รัชกาลที่ 7

พระราชประวัติรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ประสูติ พ.ศ. 2436 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2477)
มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา 
              พระราชประวัติ
              พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นโอรสองค์ที่ 76 ทรงเป็นพระโอรสองค์เล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประสูติแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ นับว่าเป็นพระราชโอรสองค์เล็กสุด ประสูติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิการยน พ.ศ. 2436 ตรงกับวันพุธ แรม 14 คํ่า เดือน 11 ปีมะเส็ง ทรงพระนามเดิมว่า " เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา 
              เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา พระองค์ได้เข้าศึกษา ในวิทยาลัยทหารบก ณ ประเทศอังกฤษจนจบและได้เสด็จกลับมารับราชการในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระเชษฐาธิราชของพระองค์ โดยได้รับยศเป็นนายพันโททหารบกมีตําแหน่งเป็นราชองครักษ์ และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ต่อมาภายหลังได้เลื่อนตําแหน่งเป็นลําดับจนเป็นนายพันเอก มีตําแหน่งเป็นปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ก่อนขึ้นครองราชสมบัติมีตําแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่2
พระราชกรณียกิจ
ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง
                เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนมาสู่ประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขการงบประมาณของประเทศให้งบดุลอย่างดีที่สุด โดยทรงเสียสละตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ โดยมิได้ขึ้นภาษีให้ราษฎร เดือดร้อน
การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ขยายการสื่อสารและการคมนาคม โปรดให้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกใน ประเทศไทย ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จน กระทั่งถึงต่อเขตแดนเขมร
การส่งเสริมกิจการสหกรณ์ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้น
                ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งนับเป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัยในสมัยนั้น ติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อเป็นสถานบันเทิงให้แก่ผู้คนในกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตหัวเมือง ทรงได้จัดตั้ง สภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้น เพื่อทำนุบำรุงหัวหินและใกล้เคียงให้เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเลแก่ประชาชนที่มาพักผ่อน
ในปี พ.ศ. 2475 เป็นระยะเวลาที่กรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ทรงจัดงานเฉลิมฉลองโดยทำนุบำรุง บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญอันเป็นหลักของกรุงเทพฯ หลายประการ คือ บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯและธนบุรี เป็นการขยายเขต เมืองให้กว้างขวาง และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ด้านการปกครอง
                พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสกรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 แต่ก็มีเหตุที่ยังไม่อาจทำได้ในระยะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีคณะบุคคลคณะหนึ่งถือโอกาสยึดอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์มาเป็นของคณะตนเอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีเจตนาล้มล้าวสถาบันพระมหากษัตริย์จากคณะบุคคลที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็เป็นพระราชประสงค์ที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้แต่แรกแล้วว่าจะทรงสละพระราชอำนาจแก่ประชาชน จึงทรงพระราชทานอำนาจและยินยอมให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองชาติเดียวในโลกที่เลือดไม่นองแผ่นดิน โดยพระองค์ทรงยินยอมสละพระราชอำนาจและเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงให้ตรวจตราตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหลักในการปกครองอย่างถี่ถ้วน การที่พระองค์ทรง เป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนี่เอง เมื่อคณะรัฐบาลบริหารงานไม่ถูกต้องตามหลักการที่วางไว้
                ทรงแก้ไขกฎหมายองคมนตรี ด้วยการออกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470 ให้ สภากรรมการองคมนตรี มีอำนาจหน้าที่ ในการให้คำปรึกษาในการร่างกฎหมาย โดยมีพระราชดำริให้สภาองคมนตรีเป็นที่ฝึกการประชุมแบบรัฐสภา กรรมการสภาองคมนตรีอยู่ในตำแหน่งวาระละ 3 ปี
ทรงตราพระราชบัญญัติควบคุมการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471 เพื่อคุ้มครองสวัสดิการของปวงชนชาวไทย โดยมีขอบเขตครอบคลุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน เช่น การประปา การไฟฟ้า การรถไฟ การเดินอากาศ การชลประทาน การออมสิน และการประกันภัย อันเป็นรากฐานของระเบียบปฏิบัติ ที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้
ทรงมีพระราชดำริให้จัดระเบียบการปกครองรูปแบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารและจัดการงานต่างๆ ของชุมชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเทศบาล ขึ้นแต่มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะบุคคลที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร์ สำเร็จ โดยอ้างว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่กลับมีการยึดอำนาจหรือรัฐประหารตามมาหลายต่อหลายครั้งโดยคณะบุคคลภายในคณะนี้เอง ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นไว้ หรือการก่อการครั้งนี้เป็นเพียงการก่อการเพื่อเปลี่ยนมืออำนาจจากพระมหากษัตริย์มาสู่คณะบุคคลคณะนี้เท่านั้น
ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรม
                ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรด ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมใน พ.ศ. 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ การศาสนา ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โปรดให้ราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนานั้น ทรงโปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ เรียกว่าฉบับสยามรัฐ ชุดหนึ่ง จำนวน 42 เล่ม ซึ่งใช้สืบมาจนทุกวันนี้
                ในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติได้ทรงวางรากฐานเป็นอย่างดีกล่าวคือ ได้ทรงสถาปนาราชบัณฑิตยสถานสภาขึ้น เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่างผลงานของราชบัณฑิตสภาเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก เช่นการตรวจสอบต้นฉบับเอกสารโบราณออกตีพิมพ์เผยแพร่ มีการส่งเสริมสร้างสรรค์วรรณกรรมรุ่นใหม่ด้วยการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
                ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะได้ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาดนตรีไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ เข้าถวายการฝึกสอนจนสามารถ พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไทยได้ ถึง 3 เพลง คือเพลง ราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรลออองค์เถา และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่งทางด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา โปรดฯให้เขียนภาพพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่ผนังพระวิหาร
ทรงพยายามสร้างค่านิยมให้มีสามีภรรยาเพียงคนเดียว ทรงโปรดให้ตรา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2471 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติตอนเป็นแบบอย่างโดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว โดยไม่ทรงมีพระสนมนางในใดๆทั้งสิ้น
นอกจากนี้แล้ว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ ทรงโปรดในการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์ ทรงทดลองใช้เอง กล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราชอัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดง คือ เรื่องแหวนวิเศษ นับได้ว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
                ในต้นรัชสมัย ได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนีหลังสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ เมื่อ พ.ศ. 2471 และทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงเรียกว่า สนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 ที่ กำหนดให้ มีเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตร ทั้ง สองฝั่งน้ำโขง แทนที่ จะมีเฉพาะฝั่งสยามแต่เพียงฝ่ายเดียว

รัชกาลที่ 8

พระราชประวัติรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(ประสูติ พ.ศ. 2468 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2489)
มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล 
             พระราชประวัติ
             พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ตรงกับวันขึ้น 3 คํ่า เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมันนี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงมีพระพี่นางและพระอนุชาร่วมสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีเดียวกันคือ 
1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
2. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช 
พ.ศ. 2472 สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมหลวงสงขลานครินทร์เสด็จทิวงคต
พ.ศ. 2474 พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต
พ.ศ. 2476 เสด็จพระราชดําเนินไปทวีปยุโรป ประทับ ณ เมืองโลซานน์ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
พ.ศ. 2477 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่จะสืบราชสันตติวงศ์ และด้วยความเห็นชอบของผู้สําเร็จราชการแผ่นดินที่ได้ดําเนินการไปตามกฎมณเฑียรบาล
พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดําเนินกลับเยี่ยมประเทศไทยพร้อมด้วยสมเด็จพระชนนี สมเด็จพระพี่นางเธอและสมเด็จพระเจ้าน้องเธอ ได้ทรงประประทับอยู่ที่พระตําหนักจิตรลดารโหฐานประมาณเดือน จึงเสด็จไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ และการปกครองในมหาวิทยาลัยประเทศนั้น
 พ.ศ. 2488 วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ จึงเสด็จกลับมาถึงประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ได้ทรงประทับอยู่ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวังผู้สําเร็จราชการแทนคนล่าสุดคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ถวายพระราชภารกิจแด่พระองค์เพื่อได้ทรงบริหารเต็มที่ตามพระราชอํานาจ
พระราชกรณียกิจ
การปกครอง
                พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนสำเพ็ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489
                พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง ทรงมีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป

การศาสนา
                ในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้
พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ทรงผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร
การศึกษา
                ในการเสด็จนิวัติพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489  และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ ทรงมีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต







รัชกาลที่ 9

พระราชประวัติรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
(ประสูติ พ.ศ. 2470 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2489 - ปัจจุบัน) 
             พระราชประวัติ
             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ เมืองเคมบริจดจ์มลรัฐเมสสาชูเสท ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระราชโอรสาธิราช องค์ที่ 3 ในสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ( สมเด็จพระศรีนครินทรทรา บรมราชชนนี ) พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์เล็ก ทรงมีพระเชษฐาธิราชว่า " พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล " พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รัชกาลที่ 8 และมีพระพี่นาง พระนามว่า " สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา "
             พระองค์ได้เสด็จกลับเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะมีพระชันษา19 ปี ก่อนครองราชย์ได้ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และได้เสด็จกลับไปศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ต่ออีกภายหลังที่ได้ครองราชย์แล้ว
             ทรงสนพระทัยในอักษรศาสตร์ และการดนตรีทรงรอบรู้ภาษาต่างประเทศหลายภาษาและตรัสได้อย่างคล่องแคล่ว จนเป็นที่ประจักษ์แก่คณะทูตานุทูตและประชาชนชาวเมืองนั้นๆ เป็นอย่างดี ต่างพากันชมว่า พระองค์ทรงมีความรู้ทันสมัยที่สุดพระองค์หนึ่ง สําหรับดนตรีนั้นทรงประพันธ์เนื้อร้องและทํานองเพลงแด่คณะวงดนตรีต่างๆ มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่คนไทยรู้จักเช่น เพลงสายฝน เพลงประจํามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เพลงประจํามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์เคยเข้าร่วมวงดนตรีกับชาวต่างประเทศมาแล้ว โดยไม่ถือพระองค์
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
                "การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น"
ด้านการเกษตร
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจด้านนี้ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยม ไต่ถามความทุกข์สุขของประชาชน และรับฟังข้อปัญหาเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การพัฒนาดิน การวิจัยพันธุ์พืชและปศุสัตว์ เป็นต้น ดังหัวข้อต่อไปนี้
ทรัพยากรน้ำ
                ทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานแก่ คณะผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า
                "หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้"
                โครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีทั้งโครงการขนาดใหญ่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็กจำพวก ฝาย อ่างเก็บน้ำ โดยพระองค์ทรงคำนึงถึงลักษณะของภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำ ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากโครงการ มาเป็นหลักในการพิจารณา พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน
                ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย เครื่องกลเติมอากาศ กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

เกษตรทฤษฎีใหม่
                ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3:3:3:1 เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
                มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
                มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
                มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย 3 ขั้นตอน เพื่อให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้
เศรษฐกิจพอเพียง
                เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
                เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ โดยปัญญาชนในสังคมไทยหลายท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เสน่ห์ จามริก, ศ.อภิชัย พันธเสน, และศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเคยถูกเสนอมาก่อนหน้าโดยองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งนับตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
                สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
                ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน[6] โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ
พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                พระองค์ทรงใช้ประสบการณ์และแนวพระราชดำริ โครงการหลวงในการพัฒนาและวิจัย พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วง และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความทุกข์ของไพร่ฟ้าจากพยาธิภัย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที นอกเหนือจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้
                โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
                โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
                โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
                หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
                โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
                โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
                โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
                หน่วยงานฝ่ายคนไข้ ในกองราชเลขานุการ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า
                "จึงใคร่ขอร้องให้ทุก ๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย"
                นับเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสที่ว่า
                "การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด"
พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้
                โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้การอุปถัมป์ในด้านต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ดังนี้
                โรงเรียนจิตรลดา
                โรงเรียนราชวินิต
                โรงเรียนวังไกลกังวล
                โรงเรียนราชประชาสมาสัย
                โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
                โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท
                โรงเรียนร่มเกล้า
                โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
                โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน
                ทุนการศึกษาพระราชทาน
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์สำหรับการศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ดังนี้

ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่างๆ ให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
                ทุนเล่าเรียนหลวง
                ทุนมูลนิธิภูมิพล
                ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
                ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
                ทุนนวฤกษ์
                ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
                โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า
                "หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี"
                ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะนี้มีออกมาแล้ว ๒๘ เล่ม โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
                ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์
พระราชกรณียกิจด้านศาสนา
                พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในการเปิดพระราชพิธีเนื่องในวโรกาสต่างๆอาทิเช่น พระราชพิธีบำเพ็ญการกุศล ทรงสนับสนุนให้มีการสร้างศาสนสถาน อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา ไม่ใช่เฉพาะแต่ศาสนาที่พระองค์ทรงนับถือ เนื่องจากทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี